มูลนิธิบ้านธารน้ำใจ
“โครงการฟื้นฟูพื้นที่ธรณีพิบัติ หรือ บ้านธารน้ำใจ ” ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากภัยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทุกคนคงจะจำวันที่สูญเสียครั้งร้ายแรงทางภาคใต้ประเทศไทยรวม 6 จังหวัด มี กระบี่,พังงา,ภูเก็ต,ระนอง,ตรังและสตูล ความสูญเสียในครั้งนี้ไม่สามารถคิดเป็นมูลค่าได้ เพราะสิ่งที่สูญเสียคือชีวิต ชีวิตที่จากไปเราไม่ถามว่าไปไหน เพราะเรายังไม่มีคำตอบว่าตายแล้วไปไหนแต่ชีวิตที่ยังอยู่โดยเฉพาะเด็กที่ต้องแปลสถานะเป็นเด็กกำพร้าในเวลาไม่กี่นาทีหลังคลื่นยักษ์ถาถมชายฝั่งทะเลอันดามัน วันที่ 27 ธันวาคม 2547 หลังจากเกิดคลื่นสึนามิเกิดเพียงวันเดียว มูลนิธิดวงประทีป โดยคุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการ ได้ส่งอาสาสมัครจากโครงการนิวัตน์สู่ชีวิตใหม่ ศูนย์ชุมพรลงมาช่วยขนศพ และลำเอียงศพผู้เสียชีวิต และดิฉันนางสาวรจนา แพรศรีทอง ได้อาสาครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ มาจัดกิจกรรมและดูแลเด็กกำพร้าเบื้องต้น คุณครูประทีป ได้บริหารจัดการได้รวดเร็วมากในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ โดยแบ่งงานเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. งานฟื้นฟูและพัฒนาจิตใจโดยใช้นิทานและละครหุ่นเป็นสื่อ
2. งานสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตและครอบครัว
3. ส่งเสริมอาชีพระยะยาวเพื่อชุมชน
ดิฉันมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิดวงประทีปผลัดเปลี่ยนกันมาจัดกิจกรรม แก่เด็กๆ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดกิจกรรมเด็กจึงทำให้เต็นท์ของเรามีเด็กและชาวบ้านหมุนเวียนมานั่งพูดคุยเพื่อผ่อนคลายและพาลูกหลานมาเล่นจำนวนมาก ต่อมาก็พัฒนาเป็นกลุ่มแม่บ้าน ทำอาชีพตัดเย็บและทำผ้าบาติกเพื่อหารายได้ระหว่างที่เราอยู่เต็นท์ด้วยความลำบากจากลม, ฝนฟ้าและสัตว์เลื้อยคลานมากมาย
โบราณว่า “ฟ้าหลังฝน” มักจะมีสิ่งดีเกิดขึ้นเสมอและเราได้มีสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีที่งดงามด้วยเมตตา คือ Mr. Peter Baines และ Ms. Gill Willie ทั้ง 2 ท่านเป็นชาวออสเตรเลียได้มาช่วยดิฉันหลายครั้งนานถึง 2 ปี พวกเราก็ยังคงอยู่ที่เต็นท์และเด็กก็ยังไม่ลดลง นอกจากจะไม่ลดลงแล้วยังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้ง 2 ท่านจึงได้ร่วมสภาธุรกิจตลาดทุนไทยสร้างบ้านหลังแรกให้ นับต่อจากนั้นเป็นต้นมางานของโครงการฯก็เพิ่มและขยายขึ้นอย่างรวดเร็วจนคุณครูประทีป ท่านเห็นว่าเราควรจะแยกออกมาเป็นมูลนิธิ จึงได้ทำการยื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดพังงา โดยตั้งชื่อมูลนิธิว่า “มูลนิธิบ้านธารน้ำใจ” และได้รับการรับรองการจดทะเบียนลงวันที่ 8 เมษายน 2554 โดยมีวัตถุประสงค์หลักก็คือดูแลเด็กกำพร้าและแบ่งเบารับภาระชาวชุมชนในการให้การศึกษาและพัฒนาเด็กให้มีชีวิตแบบยั้งยืน
งานและกิจกรรมของมูลนิธิบ้านธารน้ำใจได้แยกออกเป็น 5 ส่วน
1.งานสถานศึกษา
โรงเรียนอนุบาลบ้านธารน้ำใจที่เปิดก็เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานและไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยตนเองจึงนำเด็กมาฝากให้กับโรงเรียนของเรา ปัจจุบันมีเด็กอายุระหว่าง 1 ปีครึ่ง ถึง 4 ปี จำนวน 30 คน หลักสูตรการเรียนการสอนทางโรงเรียนใช้ระบบ มอนเทสซอริ (Montessori System) โดยมีอาจารย์ศศินันท์ นิลจันทร์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยจากโรงเรียนอนุบาลดวงประทีป กรุงเทพมหานคร มาเป็นที่ปรึกษาและจัดอบรมระบบการเรียนการสอนให้แก่ครูผู้สอนให้มีคุณภาพ
2. งานด้านบ้านพักเด็ก
บ้านพักเด็กเป็นบ้านที่ดูแลเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง ถึงแม้เด็กบางคนยังมีแม่หรือพ่ออยู่ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่จำเป็นต้องทอดทิ้งลูกให้อยู่ในความดูแลของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าบ้านธารน้ำใจ ในบ้านหลังนี้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันตามกฎระเบียบที่เด็กๆ ช่วยกันตั้งขึ้นและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเด็กจะต้องได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างสมวัย เมื่อจบไปเด็กก็จะได้เป็นพลเมืองดีของสังคม ปัจจุบันมีเด็กอาศัยอยู่ 74 คน เพศชาย 29 คน และเพศหญิง 45 คน
3. พัฒนาอาชีพ
หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ผ่านไปแต่ผู้คนยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป สิ่งที่หลายคนคิดก็คือเปลี่ยนอาชีพจากการทำประมงมาทำอย่างอื่นเหตุเพราะกลัวทะเล ทางมูลนิธิบ้านธารน้ำใจได้เริ่มกิจกรรมสอนเด็กและชาวบ้านทำผ้าบาติก ผลงานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของผู้คนที่พบเห็นมาก แต่งานศิลปะนั้นหากไม่มีประสบการณ์ในการผลิตต้องใช้เวลา ในระยะเริ่มแรกผลิตผ้าออกมาอย่างไรก็ขายได้ เนื่องผู้ซื้อต้องการช่วยเด็กๆ และผู้ประสบภัย แต่ต่อมาการจำหน่ายมียอดขายเริ่มลดลง ผลผลิตที่ออกมาไม่สวยก็ไม่มีใครซื้อ จึงนำผ้ามาแปรรูปเป็นกระเป๋า ตัดเสื้อสำเร็จรูปมาออกจำหน่าย
ปัจจุบันได้ขยายออกเป็นระดับอาชีพผลิตภัณฑ์ของเรา มีทั้งฝีมือเด็ก และชาวบ้านที่ได้รับการอบรม
มาอย่างดีส่งไปจำหน่ายทั่วไป และมีผู้สนนำไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กๆ ได้ออกแบบผลิตการ์ดรูปแบบในฤดูกาลต่างๆ กลุ่มแม่บ้านผลิตกระเป๋า, เสื้อ ,ผ้ารองจาน, ตุ๊กตา และอื่นๆอีกหลายอย่าง ทั้งนี้เพื่อเป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่เด็กๆ ที่อาศัยอยู่กับมูลนิธิบ้านธารน้ำใจและชาวชุมชนใกล้เคียง
4.โครงการนิทานคาราวาน
เริ่มจากการจัดกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ กลุ่มของนิทานคาราวาน
ได้ตระเวนแสดงละครหุ่นและเล่านิทานให้เด็กได้ชมใน 6 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีโรงเรียนเข้า
ร่วมกิจกรรม 30 โรงเรียน แต่ละโรงเรียนจะมีเด็กประมาณ 100-200 คนให้ความสนใจรับชมและ
ร่วมกิจกรรม ที่ผ่านมามีเด็กที่เข้าชมการแสดงและร่วมกิจกรรมประมาณ เกือบ 20,000 คน
กิจกรรมนี้เป็นพื้นฐานของการปรับสภาพจิตใจของเด็ก ซึ่งผลที่ได้รับมีดังนี้
(1) เด็กได้ผ่อนคลายความเครียด
(2) เด็กได้มีจินตนาการที่กว้างไกลมากขึ้น
(3) เด็กได้รับความรู้จากการชมละครหุ่น
(4) เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกในทางที่ดี
ถึงแม้ไม่มีคลื่นยักษ์ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่โครงการนิทานคาราวานยังคงอยู่เพื่อสร้างความสุขและส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนต่อไป หากท่านต้องการสนับสนุนกิจกรรมละครหุ่นท่านสามารถ บริจาคได้โดยทางคณะของเราจะเป็นสื่อกลางนำความสุขไปมอบให้แก่เด็กๆแทนท่านเอง
5.งานทุนการศึกษา
ทางมูลนิธิบ้านธารน้ำใจ ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ต้องการเรียนต่อ ซึ่งทางครอบครัวไม่สามารถส่งได้ทางมูลนิธิฯต้องการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยให้การสนับสนุนเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ จะได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีทุกคน ส่วนเด็กที่อาศัยอยู่ภายนอกที่ไม่มีโอกาส ทางมูลนิธิฯ ได้เปิดโอกาสให้เข้ารับทุนได้ ปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิบ้านธารน้ำใจ จำนวน 60 ทุน โดยแบ่งเป็นระดับการศึกษาดังนี้
1.) ระดับประถม 500/เดือน 30 ทุน
2.) ระดับมัธยม 800/เดือน 22 ทุน
3.) ระดับอุดมศึกษา 1,000/เดือน 8 ทุน
นางสาวรจนา แพรศรีทอง
ประธานมูลนิธิบ้านธารน้ำใจ